ประวัติความเป็นมาสมาคม

สมาคมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาชีพที่พัฒนาจากชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย (Pediatric Nurses Society of Thailand) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 จากการริเริ่มของรองศาสตราจารย์รัชนี สีดา และคณาจารย์ ในภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับความร่วมมือจาก เพื่อนร่วมวิชาชีพทางการพยาบาลเด็กจากสถาบันอื่นๆ ได้แก่ ผู้บริหารของงานการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วชิรพยาบาล และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เข้าร่วมเป็นกรรมการดำเนินงานชุดแรกของชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย เครื่องหมายของชมรมพยาบาลกุมารฯ หรือสมาคมพยาบาลกุมารฯ ในปัจจุบัน เป็นรูปจำลองของพยาบาลและเด็ก 2 คน มีข้อความเป็นภาษาไทยระบุชื่อชมรมฯ หรือสมาคมฯ ที่ด้านบนของรูป และมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษระบุชื่อชมรมฯ หรือสมาคมฯ ที่ด้านล่าง ที่มาของเครื่องหมายของชมรมฯ ได้จากการจัดประกวดเครื่องหมาย สัญลักษณ์ ของชมรมฯ เมื่อเริ่มก่อตั้ง ผู้ชนะการประกวด เสนอรูปแบบที่เป็นเครื่องหมายของชมรมฯ หรือสมาคมฯ ในปัจจุบัน สื่อความหมายถึงพยาบาล ที่ให้การดูแลและส่งเสริมสุขภาพเด็กและผู้ป่วยเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น

วัตถุประสงค์ของชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย

  1. ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา การวิจัย และการให้บริการพยาบาลด้านการพยาบาลเด็ก
  2. ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว
  3. เสริมสร้างความร่วมมือและความสามัคคี ระหว่างสมาชิกพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ทุกสังกัดทั่วประเทศ
  4. ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์
  5. ไม่ดำเนินการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ของเด็กทุกวัยและครอบครัว เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กิจกรรมของชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงประกอบด้วย กิจกรรมสำหรับสมาชิกของชมรมฯ ได้แก่ การจัดการประชุม หรือสัมมนาทางวิชาการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัว ได้แก่ โครงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่เด็กและผู้ปกครอง โครงการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังหรือเด็กที่มีปัญหาด้านต่างๆ โครงการดูแลสุขภาพตนเองของเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น และโครงการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก

ตลอดเวลา 18 ปี นับจาก เดือนตุลาคม 2539 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2557 ชมรมฯ ได้จัดกิจกรรมทางวิชาการ สนับสนุนส่งเสริมการวิจัย และ การพัฒนาตนเองของสมาชิกชมรมในด้านวิชาการอย่างมากมายและหลากหลาย สรุปได้ดังนี้

  1. จัดการประชุมวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถทางการพยาบาลเด็กให้แก่สมาชิก และพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเด็กและครอบครัว จำนวน 26 ครั้ง โดยเป็นการจัดการประชุมระดับนานาชาติ 1 ครั้ง ในหัวข้อ การประชุมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 1 “ The 1st Asian Congress on Pediatric Nursing : Towards the Unity for the Quality of Child Health ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2546 ร่วมกับสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  2. ชมรมฯ ร่วมกับภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ และการเลี้ยงดูเด็กทางโทรศัพท์ในวันและเวลาราชการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กสนใจโทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ
  3. สนับสนุนให้สมาชิกเข้าร่วมประชุมวิชาการ การพยาบาลกุมารเวชศาสตร์เพื่อเป็นการเพิ่มและฟื้นฟูศักยภาพเชิงวิชาการ ตลอดจน สนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัยด้านการพยาบาลเด็กและครอบครัวรวมทั้งการทำวิทยานิพนธ์และดุษฎี นิพนธ์
  4. ให้การช่วยเหลือสนับสนุนด้านกำลังทรัพย์ แก่สมาชิกที่ประสบอุทกภัยเมื่อปีพ.ศ. 2554 จำนวน 102 ราย ให้ความร่วมมือกับสภาการพยาบาลในการจัดทำ Clinical Nursing Practice Guidelines (CNPG) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลแก่ผู้ป่วยเด็ก จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ CNPG สำหรับภาวะ Neonatal Jaundice , Pneumonia , Status Asthmaticus , Diarrhea และ Foreign body Aspiration เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ และจัดทำแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย ( CNPG on Pediatric Palliative Care) เพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิด้านสุขภาพของประชาชนตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติมาตรา 12 โดยรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
  5. เข้าร่วมเป็น สมาชิกของ Asia Pacific Pediatric Nurses Association (APPNA) เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดย รองศาสตราจารย์รัชนี สีดา มีสถานภาพเป็น 1 ใน 14 steering committee ของ APPNA ด้วย

จากการที่ชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ได้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องกันมายาวนานเป็นเวลากว่า 17 ปี (พ.ศ. 2539-2557) มีจำนวนสมาชิกตลอดชีพ ถึง 818 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2557) ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมวิชาการ และความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพ อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนสามารถนำชมรมฯ ก้าวไปสู่การเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพในระดับนานาชาติ รองศาสตราจารย์รัชนี สีดา ประธานชมรมฯ จึงมีดำริที่จะเปลี่ยนสถานภาพของชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้เป็น สมาคม เนื่องจากการเป็นสมาคมนั้น เป็นนิติบุคคล ชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงดำเนินการขอจัดตั้งเป็นสมาคม และได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นสมาคมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ประเทศไทย (Pediatric Nurses Association of Thailand-PNAT) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 โดยรองศาสตราจารย์รัชนี สีดา ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ประเทศไทยเป็นคนแรก

ทั้งนี้ สมาชิกชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รับการเปลี่ยนสถานภาพเป็นสมาชิกของสมาคมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ประเทศไทยโดยอัตโนมัตินับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคม