ถึงคราว…ดาวกระจาย

เรื่องเล่า :  ถึงคราว…ดาวกระจาย

ประสบการณ์การส่งต่อผู้ป่วยในภาวะวิกฤตน้ำท่วม 2554

ของหน่วยทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

นางอนงค์ สุขโข พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
นางบุณณดา วงศ์จารุพรรณ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย
กลุ่มภารกิจบริการวิชาการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพมหานคร


วันเพ็ญเดือนสิบสองปีนี้ตรงกับวันพฤหัสที่ 10 พ.ย.54 และเป็นวันที่ดิฉันโชคดีได้รับเลือกให้เป็นพยาบาลที่จะไปส่งผู้ป่วยเด็ก ไปโรงพยาบาลฉะเชิงเทรา ซึ่งตลอดอายุราชการ 26 ปี 6 เดือน 9 วัน ของดิฉันไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อนเลย ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ลุ้นมาตลอดว่าจะโชคดีได้ไปส่งเด็กที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาโดย เฮลิคอปเตอร์หรือเปล่า เพราะโดยส่วนตัวแล้วดิฉันกลัวการนั่งเครื่องบินมาก จึงมีความวิตกกังวลมาตลอด สุดท้ายก็มีน้องพยาบาลผู้โชคดีได้ทำหน้าที่นี้ไปก่อนแล้ว

เด็กหญิง…….. อายุ 1 เดือน 9 วัน น้ำหนัก 1,190 กรัม อายุครรภ์หลังคลอด 32 สัปดาห์ เป็น case ที่ดิฉันต้องไปกับผู้ป่วยในการ refer ไปโรงพยาบาลฉะเชิงเทรา คืนนั้นก่อนเดินทางดิฉันมีความวิตกกังวลพอสมควร เนื่องจากเด็กที่จะไปส่งนั้นหายใจยังไม่ค่อยสม่ำเสมอ on O2 canula  Fio2 0.25 flow 1 lit/min คิดกังวลไปต่างๆนานาว่า ถ้าเด็กอาการแย่ลงระหว่างเดินทางจะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆเหมือนที่หอผู้ป่วยไหม ?  จะเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างไรบ้าง คิดไปคิดมาตลอดทั้งคืนจนหลับไปเมื่อไหร่ไม่ทราบ ได้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อนาฬิกาปลุก 05.30 น. จึงรีบอาบน้ำ แต่งตัวไปทำงาน

รถ refer ที่มาจอดรอหน้า OPD ชั่วคราวของสถาบันสุขภาพเด็กฯ (ขณะนี้อาคารผู้ป่วยนอกอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโครงสร้าง)นั้นเป็นรถพยาบาล ฉุกเฉินที่เราเคยเห็นใช้อยู่ทั่วไป แต่ที่สะดุดตาคือ ตัวหนังสือข้างรถที่เขียนว่า EMS โรงพยาบาลชุมชนแม่สะเรียง ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย  หลังจากที่เราช่วยกันเข็นตู้อบเด็กพร้อมอุปกรณ์ต่างๆขึ้นรถเรียบร้อยและได้ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกแล้ว รถได้เคลื่อนตัวออกช้าๆ ดิฉันโบกมือและยิ้มให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มาส่ง พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าปอดอย่างเต็มที่ ภาวนาในใจว่าขอให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้จงสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ภายในรถพยาบาลฉุกเฉิน ด้านหน้าคนขับรถมีแม่เด็กและพยาบาลจากโรงพยาบาลชุมชนแม่สะเรียง นั่งคู่กัน ด้านหลังรถมีดิฉันและ พ.ญ………กุมารแพทย์ประจำหน่วยทารกแรกเกิด คุณ……..(เจ้าหน้าที่จากศูนย์เครื่องมือแพทย์)และพยาบาลจากโรงพยาบาล ชุมชนแม่สะเรียงอีก 1 คน นั่งเฝ้าเด็กอยู่ รถแล่นออกมาถึงหน้าสถาบันฯ กำลังจะเลี้ยวออกถนนราชวิถี น้องพยาบาลชุมชนแม่สะเรียง ก็บอกว่า “พี่ ๆ เปิดกระจกรถออกให้หมดเลยค่ะ” “อ้าว ทำไมล่ะ”ดิฉันหันไปถามด้วยสีหน้างงๆ “รถแอร์เสียค่ะ แต่เสียเฉพาะด้านหลังรถนะคะ” ดิฉันหันไปสบตากับหมอ หมอจึงถามขึ้นว่า “แล้วเมื่อกี้ ก่อนขึ้นรถทำไมไม่บอกล่ะ” น้องพยาบาลตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ถ้าบอกตั้งแต่แรกก็ไม่มีคนขึ้นรถหนูน่ะสิ” คำตอบของเธอทำให้ดิฉันและคุณหมอหมดคำถาม ยอมรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ด้วยรอยยิ้มแห้งๆ

ขณะเดินทางนั้น ดิฉันมองออกไปนอกรถเห็นสายตาของคนทั่วไปที่ใช้รถใช้ถนนอยู่มองมาที่รถดิฉันเช่นกัน คิดดูสิ ถ้าเราเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนแล้วเห็นรถพยาบาลฉุกเฉินเปิดเสียงสัญญาณไซเรนและไฟ สัญญาณวับวาบก็ต้องมองเหมือนกันและอยากรู้อยากเห็นว่าใครอยู่ในรถบ้าง กำลังทำอะไร แต่เราไม่อาจเห็นได้ เนื่องจากเขาปิดกระจกติดฟิล์มหนา แต่ในวันนี้เขาสามารถมองเห็นหมอและพยาบาลที่นั่งผมปลิวอยู่ในรถอย่างชัดเจน และดิฉันก็อาจจะได้โรคหูตึงกลับมาด้วย(ได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนตลอด)

เวลาประมาณ 11.00 น. รถของเราก็เดินทางมาถึงโรงพยาบาลฉะเชิงเทรา ดิฉันรู้สึกโล่งใจมากที่ได้ส่งเด็กถึงโรงพยาบาลปลายทางอย่างปลอดภัย ขากลับเราแวะสักการะหลวงพ่อโสธรเพื่อเป็นศิริมงคล และไม่ลืมซื้อขนมจากสุดอร่อยกลับมาฝากเจ้าหน้าที่ที่วอร์ดด้วย ด้านหน้าคนขับรถมีดิฉันและคุณหมอนั่งมาคู่กัน โดยมีเบาะนั่ง 1 ที่เท่านั้น นั่งสลับฟันปลากันมาบางครั้งก็แทบจะนั่งตักกันเลย รถแล่นได้สักครู่ดิฉันรู้สึกคันที่แขนและตามตัว เริ่มมีผื่นลมพิษขึ้น บอกคุณหมอว่าพี่จะแพ้แอร์ที่เย็นมากๆ โดยเฉพาะที่มาถูกตัวตรงๆ คุณหมอจึงปรับแอร์ขึ้นด้านบนและคุณหมอเอาตัวเองบังแอร์ไว้

รถแล่นมาเรื่อยๆ ระหว่างทางคุยกันมาตลอด จึงรู้ว่าคนขับรถและพยาบาลอีก 2 คน เป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชุมชนแม่สะเรียง ถูกเรียกตัวให้มาช่วยราชการที่กระทรวงสาธารณสุข คอยช่วยเหลือโรงพยาบาลต่างๆในสังกัดที่จะ refer ผู้ป่วยออกไปยังโรงพยาบาลในเขตปริมณฑล และ case นี้ก็เป็น case แรกที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ พวกเขาทั้ง 3 คนเพิ่งเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้เอง ไม่เคยเข้ากรุงเทพฯมาก่อนเลย

รถแล่นมาตามเส้นทางมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เมื่อรถแล่นมาถึงบริเวณจุดตัดทางแยกทางหนึ่งมุ่งหน้าไป อ.บางปะอิน ทางหนึ่งมุ่งหน้าไป บางนา-ตราด  อีกทางมุ่งหน้าไปถนนพระราม 9 คนขับรถถามขึ้นมาว่า “เราจะไปทางไหนดีครับ” ดิฉันกับคุณหมอมองหน้ากันเลิกลั่ก เพราะไม่คิดว่าจะเจอกับคำถามนี้ ใจก็คิดว่าน่าจะไปทางพระราม 9 แต่ก็ไม่แน่ใจ สีหน้าหมอใช้ความคิดอยู่เช่นกัน ยังไม่มีใครตอบ ฉับพลันคนขับรถก็เลี้ยวขวาทันที “ผมว่าน่าจะเลี้ยวขวาไปทาง อ.บางปะอิน นะ เดี๋ยวจะไปเจอดินแดง”

รถแล่นผ่านชุมชนหมู่บ้านเล็ก-ใหญ่ ที่มีน้ำท่วมขัง มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่พื้นที่ลุ่มหรือดอนของเขตนั้นๆ ได้อ่านป้ายที่เขียนไว้ที่ริมถนนว่า “ ขับเรือ….ช้าๆ เดี๋ยวไอ้เข้…จะตกใจ” ก็อดอมยิ้มไม่ได้ แหม ! ช่างมีอารมณ์ขันเสียจริง ป้ายที่เขียนให้กำลังใจก็มีนะ เป็นป้ายของกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขที่เขียนว่า “อึด ฮึด สู้ เดี๋ยวมันจะผ่านไป” อ่านแล้วรู้สึกดี และแล้วรถก็มาถึงทางแยกอีก เลี้ยวขวาไปลำลูกกา เลี้ยวซ้ายไป รามอินทรา คนขับรถถามว่าจะให้เลี้ยวไปทางไหน ดิฉันตอบทันทีเลยว่าเลี้ยวซ้ายไปรามอินทรา (ถ้าไปลำลูกกาอีกวันนี้คงไม่ถึงสถาบันฯแน่) ช่วงนี้ดิฉันและคุณหมอแทบจะไม่ได้คุยอะไรกันเลยนอกจากตั้งหน้าตั้งตาดูเส้น ทาง เหมือนกับว่าจะถึงช้าหรือเร็ว หรือหลงอยู่ที่เราสองคน(เครียดนะ) และดิฉันก็อยากให้ถึงโดยเร็วด้วย เนื่องจากขณะนี้ดิฉันรู้สึกปวดหลัง และเริ่มชาที่ขาด้วย(นั่งไม่ค่อยถนัด)

นั่งรถชมวิวสองข้างทางอย่างตั้งอกตั้งใจเนื่องจากไม่คุ้นกับเส้นทางแถวนี้เลย และแล้วรถก็แล่นผ่านโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี คุณหมอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหาคนรู้ใจ และถามว่าขณะนี้เรานั่งรถผ่านโรงพยาบาลนพรัตน์ฯซึ่งอยู่ซ้ายมือเรา จะกลับสถาบันฯ ต้องใช้เส้นทางไหน เสียงปลายสายตอบเสียงดังลอดมาได้ยินว่า “ให้กลับรถทันที ขึ้นทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์” คนขับรถปฏิบัติตามทันที รถเราลงทางด่วนแต่มาโผล่ที่เอกมัยได้อย่างไรไม่ทราบ ดิฉันจึงบอกหมอว่า “ถ้าเปรียบสถาบันเราเป็นจุดศูนย์กลางนะ เมื่อสักครู่เราอยู่ฝั่งขวา(รามอินทรา) และตอนนี้เราอยู่ฝั่งซ้าย(เอกมัย) แล้วเมื่อไหร่เราจะถึงจุดศูนย์กลางซะทีนะหมอไม่ตอบ แต่หยิบโทรศัพท์โทรหาคนรู้ใจอีกครั้ง ปลายสายตอบมาว่า ให้ขับตรงมาเรื่อยๆแล้วเจอทางแยกให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสุขุมวิท เห็นตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอส  ให้ขับตามแนวตอม่อรถไฟฟ้าไปเรื่อยๆจนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลาประมาณ 14.30 น. พวกเราทั้งหมดมาถึงสถาบันฯโดยสวัสดิภาพ

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 ดิฉันเป็นผู้โชคดีอีกแล้วได้ไปรับ ด.ญ……. อายุ 40 วัน อายุครรภ์หลังคลอด 32 สัปดาห์ น้ำหนักปัจจุบัน 1,826 กรัม กลับมารักษาต่อที่สถาบันฯ หลังจาก Case นี้ สถาบันฯ Refer เด็กไปโรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรีก่อนที่น้องน้ำจะมาสถาบัน ไปอยู่ได้ประมาณ 34 วัน เมื่อสถานการณ์ปกติแล้ว เราเดินทางไปรับกลับ โดยรถฉุกเฉินของสถาบันฯ มี พ.ญ…….. ดิฉัน และคุณ…… (เจ้าหน้าที่ศูนย์เครื่องมือแพทย์), พนักงานขับรถ และบิดาเด็กไปด้วย

case นี้ ดิฉันไม่กังวลกับการเดินทางเลยเพราะเจ้าหน้าที่ของเรารู้จักเส้นทางดี ก่อนเดินทางดิฉันขึ้นไปที่หอผู้ป่วยเพื่อรับทราบข้อมูลผู้ป่วยและเตรียม อุปกรณ์การแพทย์ น้องๆบอกได้จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้แล้ว ดิฉันก็สบายใจ ชะล่าใจ ไม่ได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดินทางขาไปไม่มีอุปสรรค เราแวะซื้อขนมหม้อแกง(ลืมไม่ได้เด็ดขาด) และของฝากอื่นๆก่อนถึงโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯเล็กน้อย ซื้อขนมเสร็จเราไปรับเด็กที่หอผู้ป่วยเด็ก ขณะนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. น้องพยาบาลของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯเพิ่งให้นมทางสายยางให้ผู้ป่วยเสร็จพอดี ดิฉันรับทราบข้อมูลของผู้ป่วยเสร็จแล้วได้ห่อตัวเด็ก อุ้มเด็กใส่ตู้อบ และดิฉันเพิ่งทราบว่าลืมนำเครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse  oximeter ) มาด้วย ดิฉันรู้สึกกังวลขึ้นมาทันที เพราะไม่รู้ว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้น เด็กเล็กดูอาการยาก สีผิวค่อนข้างคล้ำ ไม่รู้ว่าเด็กตัวเขียวหรือไม่ จึงสอบถามน้องพยาบาลขอยืมอุปกรณ์เครื่อง Pulse  oximeter คำตอบคือ “ที่หอผู้ป่วยหนูมีใช้เพียง 2 เครื่องเท่านั้น สำหรับใช้กับเด็กที่มีอาการหนัก คงให้ยืมไม่ได้ แต่พี่สบายใจได้ Case นี้ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เพราะไม่ต้องให้ออกซิเจนมาประมาณ 1 อาทิตย์แล้ว

ระหว่างเดินทางกลับ ดิฉันขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาโดยตลอด ขอให้ ด.ญ…….. จงปลอดภัย อย่ามีอาการตัวเขียว หรือสำรอกเลย เนื่องจากขากลับรถวิ่งใช้ความเร็ว มีแรงสั่นสะเทือนมาก ตู้อบไม่ได้อยู่พอดีกับตัวที่รองรับ เคลื่อนไปมาได้ ดิฉันเฝ้ามองเด็กแทบไม่ละสายตา นึกตำหนิตัวเองอยู่ตลอดว่าถ้าเราไม่ลืมเครื่อง Pulse oximeter คงไม่ต้องมานั่งกังวลถึงขนาดนี้ บางครั้งรถวิ่งบนถนนที่ขรุขระ มีแรงกระแทกมากดิฉันและคุณหมอนั่ง มองหน้ากัน มีความเห็นตรงกันว่าเราควรปิดแอร์ เปิดกระจกรถ ห่อตัวเด็กนำมาอุ้มไว้เพื่อลดแรงกระแทกดีกว่า ดิฉันอุ้มเด็กไว้กับอกโดยตลอด ก้มมองดูเป็นระยะๆ  ทำให้ดิฉันนึกถึงเมื่อ 10 ปีก่อนที่ลูกดิฉันเพิ่งเกิด ดิฉันก็อุ้มลูกแบบนี้ กอดลูกแบบนี้ และรู้สึกแบบนี้ “ฉันจะดูแลเด็กที่อยู่ในอ้อมกอดคนนี้ให้ดีและปลอดภัยที่สุด” และแล้วเราก็เดินทางมาถึงสถาบันฯโดยปลอดภัยและสวัสดิภาพ

นอกจากนั้นแล้วผู้ร่วมงานของดิฉันในหน่วยงานทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยก็ได้มีส่วนร่วมในการ refer ผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่างๆอีกจำนวน 10 ราย ได้แก่ refer ไป ร.พ.พระจอมเกล้าฯ จ.เพชรบุรี   ร.พ.มหาราช             จ.นครราชสีมา   ร.พ.ชลประทาน จ.นนทบุรี   ร.พ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี   ร.พ.สุรินทร์ จ.สุรินทร์



Refer ไป ร.พ.สุรินทร์โดยเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงเกษตรฯ

Refer ไป ร.พ.ฉะเชิงเทรา โดยรถฉุกเฉินของ ร.พ.ชุมชน แม่สะเรียง

Refer กลับ สถาบันสุขภาพเด็กฯโดยรถฉุกเฉินของสถาบันฯ

รับ refer กลับ สถาบันสุขภาพเด็กฯ โดยรถฉุกเฉินของสถาบันฯ

ทางหน่วยงานได้มีการเตรียมพร้อมด้านต่างๆเพื่อรองรับภาวะวิกฤตน้ำท่วม  ได้แก่

•    เตรียมพื้นที่รองรับการย้ายผู้ป่วยภายในสถาบันฯด้วยกันเองกรณีเกิดภาวะวิกฤต น้ำท่วม ไฟฟ้าดับในหอผู้ป่วยที่น้ำเข้าท่วมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในอาคารนั้น โดยย้ายผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด(NICU)มาอยู่ร่วมกับหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดน้ำ หนักน้อย
•    แยกประเภทผู้ป่วย กลุ่มสีแดง / สีเหลือง / สีเขียว ตามแนวทางของสถาบันฯ เพื่อสำรองการใช้ออกซิเจนและประเมินการใช้ไฟฟ้า
•    ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยได้
•    จัดเตรียมพยาบาลเวร referไว้ตลอดในช่วงภาวะวิกฤตน้ำท่วม
•    จัดเตรียมสถานที่พักพิงชั่วคราวให้เจ้าหน้าที่/ครอบครัวเจ้าหน้าที่ จัดหา เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นและอาจขาดแคลนในช่วงน้ำท่วม แก่เจ้าหน้าที่ที่ประสบภัย เพื่อให้สะดวกในการมาปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยจากภาวะวิกฤตน้ำท่วมและเจ้า หน้าที่ได้มีส่วนร่วมในการ refer ทำให้หน่วยงานได้รับบทเรียนดังนี้

  1. รถที่ใช้ส่งต่อผู้ป่วยควรมีอุปกรณ์นำทางอิเลคทรอนิคส์ และพยาบาล refer ควรศึกษาข้อมูลเส้นทางการเดินทางด้วย เพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง และป้องกันความผิดพลาดในการเดินทาง
  2. ควรมีแบบฟอร์มการตรวจเช็คอุปกรณ์ช่วยชีวิต และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ในการเดินทางรับ– ส่งผู้ป่วย และก่อนเดินทาง 1 วัน พยาบาล refer ควรตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ด้วยตนเอง
  3. ควรมีการประสานงานระหว่างโรงพยาบาลต้นทาง – โรงพยาบาลปลายทาง เกี่ยวกับแนวทางการย้ายผู้ป่วย เช่น กรณีที่เด็กรอให้สารน้ำ – สารอาหาร เพื่อให้เจริญเติบโตตามเกณฑ์ ไม่ได้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแล้ว ก่อนเดินทาง 3 ชั่วโมง โรงพยาบาลต้นทางควรจะงดอาหารและน้ำเด็ก และให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำไว้ก่อนขณะเดินทางเพื่อป้องกันการสำรอกนมระหว่าง การเดินทาง
  4. พยาบาล refer ควรเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 5 ปี และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถเดินทางระยะทางไกลๆได้และควรเตรียมใจพร้อมที่จะรับทุกสถานการณ์ที่จะ เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ถึงแม้เราจะได้มีการเตรียมการทุกอย่างไว้เป็นอย่างดีแล้ว
  5. พยาบาล refer ควรได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นกรณีพิเศษ
  6. การประสานงานกับหน่วยงานที่ช่วยในการrefer ผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์  ต้องมีการตรวจสอบอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย เช่นตู้อบเด็ก ท่อออกซิเจน ว่าสามารถนำเข้าในตัวเครื่องได้หรือไม่  การคำนวณปริมาณออกซิเจนที่ต้องใช้ขณะเดินทาง  การเตรียมอุปกรณ์สำรองไฟสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ ระหว่างเดินทาง เช่นเครื่อง infusion pump นอกจากนั้นพยาบาลก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง ได้แก่ ear plug ถ้าหากมีความจำเป็นต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์
  7. ถ้าหากต้อง refer ผู้ป่วยขึ้นเครื่องบิน ต้องดำเนินการดังนี้

•    เบิกยา 1 สัปดาห์ เตรียมให้ผู้ป่วยที่ refer  เนื่องจากโรงพยาบาลที่รับrefer อาจเตรียมยาบางชนิดให้ผู้ป่วยไม่ทัน
•    เตรียมผู้ป่วยและประวัติ, ผลการตรวจทางห้องทดลอง ,ฟิล์มเอกซเรย์ ,  ใบ refer ใส่ถุงพลาสติกปิดให้เรียบร้อย
•    ส่งรายชื่อญาติพร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดตามไปด้วย (พร้อมชื่อผู้ป่วย)
•    ประเมินความพร้อมผู้ป่วย

  1. NPO ก่อนขึ้นเครื่อง ถ้า Feed ภายใน 2 ชั่วโมง ให้ดูดออกและต่อลงถุง
  2. เทปัสสาวะออกถ้ามีถุงเก็บปัสสาวะ  หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป ให้เรียบร้อย
  3. กรณีมีมีท่อช่วยหายใจ ดูแลให้ดีก่อน ระวังเลื่อนหลุดระหว่างเดินทาง
  4. เตรียมออกซิเจนและอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยให้พร้อมในการเดินทาง
  5. สอบถามประวัติ Pneumothorax ถ้ามีแจ้งให้ทราบด้วย
  6. อุปกรณ์ ของส่วนตัวที่จะไปกับผู้ป่วยเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น (คัดกรองให้ก่อนขึ้นรถ)
  7. เตรียมไฟฉายไปด้วย

ประสบการณ์ที่ได้จากภาวะวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้  ทำให้ดิฉันและเพื่อนๆพี่ๆน้องๆในหน่วยงานจดจำได้เป็นอย่างดี  และคงจะเป็นประโยชน์ต่อไปในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น  แต่ทุกคนก็ได้แต่หวังไว้ว่าคงไม่เกิดภาวะวิกฤตน้ำท่วมขึ้นอีกในปีหน้า