มารู้จักโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กกันเถอะ 

อ.ดร. อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์
คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล

มารู้จักโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กกันเถอะ 
ท่านทราบหรือไม่ว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในเด็กและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด  จากสถิติทั้งในและต่างประเทศพบเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดถึงร้อยละ 70-80 ของโรคหัวใจในเด็กทั้งหมด สำหรับในประเทศไทย พบว่าในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคหัวใจ 7,000 – 10,000 คน ดังนั้น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดคืออะไร

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา พบโรคนี้ในทารกแรกเกิดมีชีวิตถึง 8 ใน 1,000 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเขียว หรือ หัวใจวายร่วมด้วยอย่างละเท่าๆกัน ที่อาจเสียชีวิตก่อนเกิด บางรายเริ่มมีอาการหรือตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด หรือ ตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติในสัปดาห์แรก บางรายตรวจพบเมื่ออกจากโรงพยาบาลหลังคลอด หรือ มีอาการหลังอายุ 1-2 เดือนหรือ หลังจากนั้น
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดได้อย่างไร

ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่จากการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 30 ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีความผิดปกติของอวัยวะอื่นร่วมด้วย ร้อยละ 8 เป็นเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) และร้อยละ 3 พบว่ามีสาเหตุจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมัน หรือ มารดาได้รับยาบางชนิด สารเคมี หรือสิ่งเสพติด ระหว่างตั้งครรภ์
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีกี่ชนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กมี  2 ชนิด คือ ชนิดที่ไม่มีอาการเขียว และชนิดที่มีอาการเขียว หรือ อาจแบ่งเป็น ชนิดที่มีเลือดไปปอดมาก และ ชนิดมีเลือดไปปอดน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกัน ได้แก่ 1) กลุ่มที่มีเลือดไปปอดมากจะไม่มีอาการเขียวหรือเขียวเล็กน้อย มักจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย (Congestive heart failure) และ 2) ชนิดที่มีเลือดไปปอดน้อยจะมีอาการเขียวและทำให้เกิดอาการหมดสติจากภาวะสมองขาดออกซิเจน (Anoxic spells)
เด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะมีอาการอย่างไร

โดยทั่วไป เด็กจะหายใจเหนื่อยง่าย ดูดนมลำบากหรือต้องหยุดพักขณะดูดนม ในกลุ่มที่มีภาวะหัวใจวาย เด็กมักจะมีน้ำหนักตัวน้อย เจริญเติบโตช้า เป็นหวัดบ่อยและใช้เวลานานในการรักษามากกว่าเด็กปกติ อาจมีอาการบวมบริเวณเปลือกตาหรือหน้าแข้ง หรืออาจมีประวัติเป็นโรคปอดอักเสบ สำหรับกลุ่มที่อาการเขียว จะเขียวบริเวณ

ริมฝีปากมากขึ้น หายใจหอบลึก กระสับกระส่าย ร้องกวน อาจมีอาการตัวอ่อน หรือหมดสติ เมื่อตกใจ เบ่งถ่าย ออกแรงมากๆหรือร้องไห้นานๆ
การรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีวิธีใดบ้าง

โดยทั่วไปการรักษาประกอบด้วย 1) การรับประทานยาเพื่อช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น แต่ไม่ได้แก้ความผิดปกติ 2) การผ่าตัด เพื่อแก้ไขความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด หรือ ช่วยในการไหลเวียนเลือด และ 3) การใส่สายสวนหัวใจเพื่อการรักษา  (Interventional Cardiac catheterization)  ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าในทางการแพทย์มากขึ้น จึงช่วยให้เด็กโรคหัวใจได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้เด็กได้รับการรักษาหรือผ่าตัดในเวลาอันรวดเร็ว
จะดูแลเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างไร

ผู้ดูแลควรมีความรู้ในการดูแลเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างถูกต้อง การรับประทานยาตามแผนการรักษา การป้องกันการติดเชื้อระบบหายใจ และการมาตรวจตามนัด ในรายที่มีภาวะหัวใจวาย ควรงดรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม อาหารทะเล อาหารกระป๋อง ของหมักดองต่างๆ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียม ได้แก่ ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น ในเด็กโรคหัวใจชนิดเขียว สามารถรับประทานอาหารปกติ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยการไหลเวียนเลือด รับประทานผักผลไม้เพื่อไม่ให้ท้องผูก และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ตกใจหรือร้องไห้ เมื่อเริ่มมีอาการเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย  หายใจหอบลึก ให้รีบจัดท่านอนราบงอเข่าชิดอกหรืออุ้มพาดบ่าให้เข่างอชิดอก หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการตัวอ่อนหมดสติควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

นอกจากนี้ ควรพาเด็กไปรับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และดูแลความสะอาดของปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ ควรพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากโดยแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้งว่าเด็กเป็นโรคหัวใจเพื่อให้ยาป้องกันการติดเชื้อ