นางสาวสมศรี แสงสว่างชัย
หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก และพยาบาลชำนาญการ หน่วยพัฒนาการเด็ก
งานการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์
ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
นิทาน สิ่งที่น่าสนใจ หลายๆคนชื่นชอบ มีอรรถรสชวนให้ติดตาม บ้างก็เล่าเป็นเพลงแหล่ เป็นเพลงกล่อมเด็ก ขึ้นกับขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีการสืบทอดกันมา อาจมีต้นกำเนิดจากเรื่องจริง จินตนาการ ความเชื่อ หรือสิ่งที่ปฏิบัติตามๆกันมา นำมาเขียนเป็นร้อยกรองร้อยแก้ว ให้มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นพื้นฐานการเล่นแบบหนึ่ง ปัจจุบันจะเห็นนิทานในรูปแบบหนังสือที่มีรูปภาพสวยงาม ชวนให้สนใจมากขึ้น ซึ่งนิทานเป็นส่วนหนึ่งของการเล่น เด็กๆชอบให้เล่านิทาน ถ้าเป็นผู้มีลีลาท่าทางมีการทำน้ำเสียงสูงๆต่ำๆ หรือมีทำนองเล่าขานเป็นกลอน เด็กจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ นิ่ง ฟังอย่างใจจดใจจ่อ ถ้ามีอุปกรณ์ประกอบการเล่าด้วยก็ช่วยดึงดูดความสนใจเพิ่มขึ้น
ในบางครั้งเด็กอาจไม่เข้าใจเรื่องราว แต่ก็เพลินเพลิดมาก เด็กๆที่เข้าใจภาษา จะสร้างภาพขึ้นในสมอง มีการทำงานของสมองในหลายๆส่วน ถ้าได้เล่านิทานหลายๆเรื่อง และซ้ำๆจะทำให้สมองมีการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทมากขึ้น เซลสมองมีความแข็งแรงไม่ถูกทำลาย เด็กก็จะมีสติปัญญาดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ มีความสนใจและตั้งใจในการเรียนรู้ สามารถแก้ไขปัญหาได้ดี มีนิสัยรักการอ่าน มีสมาธิ ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในอนาคต นอกจากนี้การเล่านิทานให้เด็กฟัง เป็นการสร้างความสามารถทางอารมณ์ที่ดี เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม เรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ และการแก้ไขปัญหาที่ดี ผ่านเรื่องราวต่างๆในนิทาน
ตรงกับคำกล่าวของ น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ว่า นิทานมีความสำคัญมากในการสร้างไอคิวอีคิวให้เด็กถึง 70% ถึงแม้การเล่านิทานจะมีความสำคัญมาก แต่จากการศึกษาของ กรมอนามัยในประเทศไทย กับครอบครัวจำนวนมากกว่า 3,389 ครอบครัว ปี 2546 พบว่า เพียงร้อยละ 2 ที่พ่อแม่เริ่มเล่านิทานตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ พ่อแม่จำนวน 2 ใน 3 เริ่มเล่านิทานเมื่อลูกอายุ 1-3 เดือน ขณะที่พ่อแม่ 1 ใน 3 ไม่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังเลยในรอบ 1 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้ให้กับคนทุกกลุ่มวัยให้เห็นความ สำคัญของการเล่านิทานให้เด็กฟัง ต่อมาทางมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้ทำโครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart ปี 2547 โดยเชื่อว่า “หนังสือ เป็นประตูสู่โลกกว้าง” แต่หลังจากการทำโครงการ แล้ว พบว่า “หนังสือ สามารถเปลี่ยนชีวิตได้” เพราะผลที่ได้รับจากการติดตามพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้นั้น เด็กๆ มีนิสัยรักการอ่าน ติดหนังสือ ชอบใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหนังสือ มากกว่าการดูโทรทัศน์ หรือการเล่นของเล่น ที่สำคัญ หนังสือเป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเป็นตัวเชื่อมกลางระหว่าง พ่อ แม่ ลูก และคนในครอบครัว ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการเล่า/อ่านนิทานอย่างยิ่ง
เมื่อการเล่า/อ่านนิทานมีความสำคัญมากเช่นนี้ พยาบาลย่อมเป็นบุคคลสำคัญอันดับแรกในการให้ความรู้ตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ จนถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ต้องเน้นย้ำอย่างจริงจังให้เล่า/อ่านนิทานให้ลูกฟัง พ่อแม่ผู้ปกครองควรตั้งใจ แบ่งเวลา และทำอย่างเสม่ำเสมอต่อเนื่อง จึงจะเกิดผลดีต่อลูกในระยะยาวและเพิ่มความสุข ความรักใคร่ผูกพันในครอบครัว จากหนึ่งครอบครัวเป็นชุมชน และสังคมที่มีความสุข มีคนเก่งและดี ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
www.Cha-lad.com
http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9500000068215 กุมภาพันธ์ 11th, 2009
http://www.trf.or.th/News/Content.asp?Art_ID=984 กรกฎาคม 26th, 2011 | Posted by wearehappy