เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีและเก่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีรยา จึงสมเจตไพศาล
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีและเก่ง
ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญของสังคม พ่อ แม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ การส่งเสริมและเลี้ยงดูให้เด็ก “ดีและเก่ง” มีหลักปฏิบัติดังนี้

1 หลีกเลี่ยงการขู่ หรือบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่อยากทำและต่อต้าน แต่ควรเลือกให้เด็กทำในสิ่งที่ เด็กสนใจ ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสนใจยาวนาน มีสมาธิมากขึ้น และมีความสุขอยากจะค้นคว้าและเรียนรู้ยิ่งขึ้น พ่อ แม่หรือผู้เลี้ยงดูควรกล่าวชื่นชมในความตั้งใจและพยายามเรียนรู้ของเด็ก หลีกเลี่ยงการตำหนิ ติเตียน หรือดุว่าเมื่อเด็กทำได้ไม่ดี หรือทำได้ไม่ถูกใจ

2 หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ในการสื่อสาร/สอน เพราะจะทำให้เด็กเกิดความกดดัน และเป็นภาพที่เลวร้ายในใจ

3 หลีกเลี่ยงการคาดหวังในสิ่งที่เกินวัย หรือไม่ควรประคบประหงม/ปกป้องจนเกินไป ควรฝึกให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง เพื่อส่งเสริมศักยภาพในตัวเด็ก ทำให้รู้จักพึ่งพาตัวเอง และเกิดความภูมิใจเมื่อทำได้ด้วยตนเอง

4 สอนและเป็นตัวอย่างในการเข้าอกเข้าใจ และเห็นใจผู้อื่น เพื่อให้เด็กได้ซึมซับและประพฤติตามโดยพ่อ แม่หรือผู้ดูแลต้องปฏิบัติพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องด้วย

5 ปลูกฝังและเป็นตัวอย่างในการมีคุณธรรม จริยธรรม การรู้จักถูก ผิด และการควบคุมอารมณ์แสดงความชื่นชมเมื่อเด็กทำความดี ทำโทษหรือสอนเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

6 พ่อแม่หรือคนในบ้านควรมีกฎเกณฑ์และทิศทางในการเลี้ยงดูให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสน และขาดความไว้วางใจ

7 ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญของความคิด ความคิดหรือความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นได้จากการต่อยอดจากความคิดเดิมที่มีอยู่ เมื่อเด็กมีความรู้มาก เด็กก็จะสามารถมองปัญหาได้กว้าง การฝึกฝนให้ให้เด็กมีมุมมองการคิดที่หลากหลาย จะช่วยทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์

สรุป
ความเก่งและความดีของเด็กนั้น ขึ้นอยู่กับสองมือและหัวใจของพ่อแม่ ในการดูแลให้ความรัก ความใส่ใจ คอยส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ตามความถนัดของลูก โดยไม่บังคับหรือกดดัน คอยสั่งสอนและชี้แนะแนวทางเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เมื่อทำได้เช่นนี้เด็กย่อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและมีคุณภาพอย่างแน่นอน.

เอกสารอ้างอิง

คู่มือ มาตรฐานขั้นต่ำในการอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ตามพรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546.(2550).เลี้ยงลูกถูกวิธี
พิมพ์ครั้งที่ 2.บริษัท เอ็น พี กราฟฟิค ดีไซน์ จำกัด.(หน้า 12-22).

ทำอย่างไรให้ลูกมี “MQ” ทอฝันปันรัก.วารสารเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว.ปีที่ 10
ฉบับที่ 63 เดือน กันยายน-ตุลาคม 2551 (หน้า9).

วีระศักดิ์ ชลไชยะ. บุรณี กาญจนถวัลย์,ชิษณุ พันธุ์เจริญ,อุษา ทิสยากรและอดิศร ภัทราดูลย์.
(บรรณาธิการ).เลี้ยงลูกน้อยอย่างเข้าใจ.(2553). พิมพ์ครั้งที่ 2.บริษัท ธนาเพรส จำกัด.